ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของตำบลปรางหมู่
ตำบลปรางหมู่เป็นตำบลเก่าแก่มาตั้งแต่ พ.ศ.2440 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 104 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ พูดภาษาใต้ (ภาษาถิ่น) นับถือศาสนาพุทธ ตั้งอยู่ในเขตการปกครองอำเภอเมืองพัทลุง
เทศบาลตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 13 พ.ศ. 2552 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นเทศบาลตำบลปรางหมู่ ประกาศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน ดังนี้
ประวัติหมู่บ้าน
บ้านดอนแบก หมู่ที่ 1
สมัยก่อนในหมู่บ้านมีต้นตะแบก จำนวน 2 ต้น และสภาพของพื้นที่เป็นที่ราบสูง เป็นดินดอน คนสมัยก่อนตั้งชื่อว่า “ดอแบก” แต่ต่อมาเห็นว่าชื่อไม่เพราะ เลยตั้งชื่อใหม่ให้ตรงกับที่หมู่บ้านมีพื้นที่ดอน และมีต้นตะแบก เลยเปลี่ยนชื่อเป็นบ้าน “ดอนแบก” และอีกนัยหนึ่ง เนื่องจากที่บริเวณหมู่บ้านมีดอนอยู่แห่งหนึ่งเป็นที่ดอนที่ไม่เด่นชัดและที่ดอนนั้นมีต้นแบก(ตะแบก) ขึ้นอยู่จึงเรียกที่ดอนนั้นว่าดอนแบก ต่อมาเมื่อมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณนั้นมากขึ้น จึงตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่าบ้านดอนแบก
บ้านนางเกรียง หมู่ที่ 2
มีการเล่าต่อ ๆ กันว่าบ้านนางเกรียง เดิมชื่อว่า “บ้านนางเกลี้ยง” เพราะว่าทั้งหมู่บ้านไม่มีผู้หญิงอยู่เพราะว่าเจ้าเมือง ๆ หนึ่งได้ให้ทหารเกณฑ์ผู้หญิงไปเป็นเมียท่านหมด ในหมู่บ้านจึงไม่มีผู้หญิงเหลือเลย จึงเรียกกันว่า “บ้านนางเกลี้ยง” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “บ้านนางเกรียง” ในที่สุด
บ้านแหลมยาง หมู่ที่ 3
สันนิษฐานว่าเป็นเพราะแต่ก่อนบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านมีไม้ยางอยู่เป็นจำนวนมาก มีลักษณะที่ต้นไม้ยางขึ้นหนาแน่นต่อเรื่อย ๆ จนมีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกมาแล้ว ชาวบ้านก็ตั้งบ้านอยู่บริเวณปลายแหลมของป่านั้น จึงเรียกต่อกันมาว่า “บ้านแหลมยาง”
บ้านในล้อม หมู่ที่ 4
เดิมเป็นป่าสลับกับดินที่ว่างเปล่ามีคนสกุลเพชรรักษ์เข้ามาจับจองเป็นเจ้าของและได้สร้างที่พักเป็นกระท่อมเล็ก ๆ เพื่อเป็นที่พักอาศัยในยามที่นำสัตว์มาเลี้ยงในทุ่ง และได้ล้อมรั้วบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ (วัว ควาย) ต่อมาได้มีชาวบ้านใกล้เคียงได้นำ วัว ควายฝากเลี้ยงในตอนกลางคืน โดยไม่ต้องกลัวหาย เพราะต้นตระกูลเพชรรักษ์เป็นที่เคารพของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงชาวบ้านก็เริ่มเรียกบริเวณนี้ว่าบ้านในล้อมเรื่อยมา
บ้านควนกรวด หมู่ที่ 5
เดิมเป็นหมู่บ้านที่เป็นเนินกรวดมากบริเวณเนินทั้ง 4 ด้าน เป็นกลุ่มแม่บ้านและมีวัดอยู่บนเนิน ชื่อว่า “วัดควนกรวด” และกลุ่มแม่บ้านควนกรวด ขณะนั้นมีเจ้าอาวาสคือ พ่อท่านรอดเป็นเจ้าอาวาสมาก่อนตั้งวัดที่อยู่ใกล้ควนเป็นสภาพภูมิศาสตร์ มีลักษณะดังนั้น จึงเรียกชื่อตามภูมิศาสตร์ว่า “บ้านควนกรวด”
บ้านห้วยไก่ หมู่ที่ 6
เล่ากันว่า มีแม่ชีไม่ทราบว่ามาจากไหน เดินทางข้ามคลองที่กลางหมู่บ้านเป็นประจำทุกวัน แต่คลองนั้นมีสะพานไม้ต้นเดียว ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “ห้วยชีโต่” และเพี้ยนมาเป็นห้วยไก่ ในที่สุด
บ้านปรางหมู่ หมู่ที่ 7
มีการเล่าต่อ ๆ กันว่าสมัยก่อนสัตว์ทุกชนิดพูดได้ และได้มีพ่อท่านรอด (เจ้าอาวาส)วัดควนกรวดรูปหนึ่งรู้ฟังภาษานกขุนทอง พูดกันว่าจะไปหากินที่ไหน นกอีกตัวพูดว่ามีลูกมะปรางอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดควนกรวด และพ่อท่านรอดได้สะกดรอยตามจึงได้มาพบต้นมะปรางจำนวนมาก บริเวณวัดปรางหมู่ใน และในปัจจุบันยังคงมีต้นมะปรางอยู่เป็นจำนวนมาก พ่อท่านได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ปรางหมู่ และตั้งชื่อวัดปรางหมู่ใน และวัดปรางหมู่นอก
บ้านปรางหมู่ หมู่ที่ 8
มีการเล่าต่อ ๆ กันว่าสมัยก่อนสัตว์ทุกชนิดพูดได้ และได้มีพ่อท่านรอด (เจ้าอาวาส)วัดควนกรวดรูปหนึ่งรู้ฟังภาษานกขุนทอง พูดกันว่าจะไปหากินที่ไหน นกอีกตัวพูดว่ามีลูกมะปรางอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดควนกรวด และพ่อท่านรอดได้สะกดรอยตามจึงได้มาพบต้นมะปรางจำนวนมาก บริเวณวัดปรางหมู่ใน และในปัจจุบันยังคงมีต้นมะปรางอยู่เป็นจำนวนมาก พ่อท่านได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ปรางหมู่ และตั้งชื่อวัดปรางหมู่ใน และวัดปรางหมู่นอก
บ้านใต้ช่อง หมู่ที่ 9
สมัยก่อนเป็นหมู่บ้านทรพีเมื่อชุมชนบ้านทรพีเข้าอยู่ในเขตรับผิดชอบของเขตเทศบาลเมืองพัทลุง บ้านใต้ช่องก็เลยแยกมาตั้งเป็นหมู่บ้านใต้ช่อง สาเหตุที่มาของหมู่บ้านใต้ช่อง เพราะอยู่ตรงสะพานถนนรถไฟและมีสายน้ำแยก 3 สายใหญ่ และเป็นทางข้างของสัตว์และคนในหมู่บ้านเลยตั้งชื่อว่า บ้านใต้ช่อง
|
|